สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

ประวัติการจัดตั้ง


     กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2527 โดยคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน ชุดที่ 1 ขึ้น โดยมีนายวิโรจน์ เลาหพันธ์ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลังในขณะนั้นเป็นประธานกรรมการและมีสถานที่ทำการแห่งแรกอยู่ที่ชั้น 2 อาคารกรมสรรพากร (บางลำพู) การจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมา รัฐบาลได้อนุมัติให้นำเงินจากกองทุนช่วยเหลือเก็บสต็อคพิเศษองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศปี 2528 จำนวน 219,799,545.85 บาท มาเป็นทุนประเดิมในการดำเนินงาน

 

 

 

วิสัยทัศน์

" เป็นองค์กรสนับสนุนและรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรม

อ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน "

 

 

วัตถุประสงค์


     พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 23  ให้จัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
     1. ศึกษา วิจัย พัฒนา และส่งเสริมการผลิต การใช้และจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย
     2. รักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและโรงงาน และเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
     3. รักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคในประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค
     4. กระทำการอื่นที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
     ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นนิติบุคคลและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม

 

คณะกรรมการบริหารกองทุน


      พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 24 ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบริหารกองทุน” ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์หนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงบประมาณหนึ่งคน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยหนึ่งคน ผู้แทนชาวไร่อ้อยสามคน และผู้แทนโรงงานสามคน เป็นกรรมการ
      ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและเลขานุการ ตำแหน่งละหนึ่งคน

 

หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน


มาตรา 25 
     1. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องต่าง ๆ ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
     2. กำหนดระเบียบว่าด้วย การเก็บรักษา การหาผลประโยชน์และการใช้จ่ายเงินกองทุน โดยได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
     3. ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนด
     4. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
     5. บริหารและควบคุมการปฏิบัติงานของกองทุนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

 

รายได้ของกองทุน


     พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 27 กำหนดรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไว้ดังนี้
     1. ค่าธรรมเนียมการวิจัยและส่งเสริมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย
     2. เบี้ยปรับฯ ตามมาตรา 17 (25)
     3. เงินที่ได้รับตามมาตรา 57
     4. ดอกผลของกองทุน
     5. เงินและทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
     6. เงินกู้โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
     7. เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
     8. เงินและทรัพย์สินอื่นๆ ที่ตกเป็นของกองทุนฯ

 

การใช้จ่ายเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย


มาตรา 29   
     ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนจัดสรรเงินจำนวนร้อยละสิบของ เงินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้รับตามมาตรา 57 ส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
มาตรา 30
     เงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายให้นำมาใช้จ่ายได้เฉพาะ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 23 และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนด รวมทั้งค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 55 
     ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี ให้คณะกรรมการบริหารกำหนด ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
      1. รายได้สุทธิตามมาตรา 54
      2. ต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิตอ้อย
      3. ต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิตน้ำตาลทราย
      4. ราคาอ้อยขั้นต้น
      5. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น
      6. เงินที่ได้รับจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
มาตรา 56
     ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและ จำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ให้กองทุนจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว แต่ชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน

 

การจัดทำงบการเงินและรายงานผลการปฏิบัติงาน


พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 31
      
ภายในเดือนเมษายนของทุกปี ให้คณะกรรมการบริหารกองทุน จัดทำงบดุลแสดงฐานะการเงิน โดยมีคำรับรองการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อรัฐมนตรี
      ให้รัฐมนตรีจัดให้มีการประกาศงบดุลและรายงานตามวรรคหนึ่งในราชกิจจานุเบกษา