ข่าว 22 ธันวาคม 2565

       ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 มีมติเห็นชอบการขอจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตามร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ โดยการจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (ใช้ชื่อตามกองทุนเดิม) นั้น

       นายเอกรินทร์ ทองนอก รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนนี้ สืบเนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีการโอนกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนเดิมไปเป็นทุนหมุนเวียนใหม่ตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558                         

       1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

      2. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ....สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายดังกล่าว ร่วมกับร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนจำนวน 7 ฉบับ รวมจำนวน 8 ฉบับ และได้เชิญอธิบดีกรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งมีประเด็นการกำหนดให้กองทุนมีสำนักงานเรียกว่า "สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย" มีฐานะเป็นนิติบุคคล และให้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล การแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุน องค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินกองทุน โดยกรมบัญชีกลางมีความเห็นให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558

       3. กรมบัญชีกลางในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายดำเนินการส่งร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างพิจารณาฉบับล่าสุด และจัดทำรายละเอียดการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนเสนอคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นการจัดตั้งทุนหมุนเวียนต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งยกเว้นการนำรายรับไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อกระทรวงการคลังตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

       4. ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบในหลักการการขอจัดตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอ พร้อมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำความเห็นและข้อสังเกตเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนว่า เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ องค์ประกอบคณะกรรมการบริหารกองทุน และแหล่งที่มาของเงินกองทุน ซึ่งแตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ประกอบกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558

       5. ข้อดีของร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

          5.1 แก้ไขวัตถุประสงค์กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ศึกษา วิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามนโยบายของประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย โรงงาน และผู้บริโภค และกระทำการอื่นที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน และเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การจ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อชดเชยราคาอ้อย จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดให้เป็นงบประมาณจากภาครัฐ

         5.2 เงินกองทุน จะมีที่มาจาก 9 แหล่ง (จากเดิม 8 แหล่ง) คือ ค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย, ค่าธรรมเนียมเพื่อการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย, เบี้ยปรับ, เงินที่ได้รับ, ดอกผลของกองทุน, เงินกู้, เงินและสินทรัพย์ที่ได้รับมาเพื่อคุ้มครองและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม, เงินและทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากการดำเนินงานของกองทุน และเงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน

          5.3 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย”

            เดิม ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นนิติบุคคลและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม หน้าที่ของสำนักงานเป็นไปตามระเบียบกฎหมายลำดับรอง

              แก้ไขใหม่ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และให้มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล มีอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

              (1) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการบริหารกองทุน

              (2) เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการรับจ่ายเงินกองทุน

              (3) ดำเนินการต่าง ๆ ของกองทุนและประสานงานกับสำนักงาน คณะกรรมการ และคณะกรรมการอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้

              (4) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารกองทุนมอบหมาย
            ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นผู้บังคับบัญชาลูกจ้างของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายและรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนในการบริหารกิจการของกองทุน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ รวมทั้งคำสั่ง นโยบาย และมติของคณะกรรมการบริหารกองทุน

          5.4 เพิ่มจำนวนกรรมการบริหารกองทุน เดิม 12 คน เป็น 15 คน และเพิ่มอำนาจหน้าที่

              ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบริหารกองทุน” ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์หนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงบประมาณหนึ่งคน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยหนึ่งคน ผู้แทนชาวไร่อ้อยสี่คน ผู้แทนโรงงานสี่คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอหนึ่งคนเป็นกรรมการ                           

               คณะกรรมการบริหารกองทุนมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

               (1) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการในเรื่องตามมาตรา 17 (27)

               (2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องต่าง ๆ ตามมาตรา 23 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

               (3) กำหนดระเบียบว่าด้วยการเก็บรักษา การหาผลประโยชน์และการใช้จ่ายเงินกองทุน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ 

               (4) ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

               (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

               (6) บริหารและควบคุมการปฏิบัติงานกองทุน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้